1542 จำนวนผู้เข้าชม |
คอกาแฟต้องรู้ ดื่มกาแฟมากๆ เสี่ยงมะเร็งเพิ่มขึ้นบ้างหรือไม่
ผศ. นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ แพทย์ประจำสาขาวิชาเภสัชวิทยาและพิษวิทยาคลินิก ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ความเชื่อที่ว่าการดื่มกาแฟทำให้เป็นมะเร็งนั้นมาจากสารในกาแฟที่ชื่อว่า “อะคริลาไมด์” (Acrylamide) เป็นสารที่สัมพันธ์กับโรคมะเร็ง หากร่างกายได้รับสารดังกล่าวเกินปริมาณที่กำหนดไว้ จะมีความเสี่ยงและทำให้เป็นมะเร็งได้
สารก่อมะเร็งในกาแฟ
อะคริลาไมด์ สามารถพบได้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีการนำมาผ่านความร้อนสูง เช่น ขนมอบกรอบที่ต้องผ่านการทอดด้วยความร้อนสูง เป็นต้น
กาแฟ อาจเกิดสารอะคริลาไมด์ได้จากขั้นตอนการคั่วกาแฟ รวมถึงขั้นตอนการทำกาแฟสำเร็จรูปที่ทำให้เกิดสารอะคริลาไมด์อีกครั้งหนึ่ง
ปริมาณอะคริลาไมด์ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
ร่างกายควรได้รับสารอะคริลาไมด์ไม่เกิน 2.6 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หากได้รับมากกว่าที่กำหนดไว้จะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง
กาแฟมีสารก่อมะเร็ง (อะคริลาไมด์) มากเท่าไร
จากการศึกษาของประเทศโปแลนด์พบว่าในกาแฟคั่วบดหรือกาแฟสด 160 ซีซี (ประมาณ 1 แก้ว)
- มีสารอะคริลาไมด์ 0.15-1 ไมโครกรัม แสดงว่าหากคนที่มีน้ำหนักตัว 40 กิโลกรัม จะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งจากการดื่มกาแฟได้ ต้องได้รับสารอะคริลาไมด์เกิน 40×2.6 = 104 ไมโครกรัม
- ในกาแฟ 1 แก้วมีสารอะคริลาไมด์ 0.15-1 ไมโครกรัม แปลว่าในคนที่มีน้ำหนัก 40 กิโลกรัมจะต้องบริโภคกาแฟมากกว่า 104 แก้ว จึงจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง แสดงให้เห็นว่าการดื่มกาแฟในปริมาณปกตินั้น ไม่ได้มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งแต่อย่างใด
- ในทางตรงกันข้าม ในกาแฟมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันมะเร็งและโรคเส้นเลือดอุดตัน เคยมีการศึกษาพบว่าในคนที่บริโภคกาแฟดำ 2 แก้วขึ้นไป มีอัตราการเกิดมะเร็งน้อยกว่าประชากรทั่วไป
แต่การดื่มกาแฟให้ได้ประโยชน์ คือการดื่มกาแฟดำเท่านั้น การดื่มกาแฟที่ใส่ครีมหรือน้ำตาลมาก ควรระมัดระวังภาวะอ้วน ไขมันในเลือดสูง และน้ำตาลสูงจากน้ำตาล ครีม หรือครีมเทียมที่เติมเข้าไป
อันตรายจากการดื่มกาแฟ
แม้ว่าปริมาณสารอะคริลาไมด์ในกาแฟจะไม่ได้มากพอที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ แต่อันตรายจากกาแฟที่มาจากคาเฟอีนก็อาจเป็นอันตรายต่อบางคนที่ดื่มได้ เช่น ทำให้ชีพจรเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้นเล็กน้อย จึงไม่เหมาะกับคนที่เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ และผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ยังควบคุมโรคได้ไม่ดี รวมถึงกาแฟมีความเป็นกรดพอสมควร จึงทำให้เกิดการระคายเคืองที่กระเพาะอาหาร จึงไม่เหมาะกับผู้ป่วยกรดไหลย้อน เพราะจะกระตุ้นให้ตัวโรคมีอาการรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ ฤทธิ์ของคาเฟอีนที่ทำให้ตื่นตัวหากได้รับผิดเวลาจะทำให้นอนไม่หลับ ข้อแนะนำคือควรได้รับในช่วงครึ่งเช้าของวัน หรือพยายามอย่าให้เกิน 16.00 น.